อาการแพ้ฟิลเลอร์
หลายคนที่กำลังคิดตัดสินใจว่าจะฉีดฟิลเลอร์ แต่ก็มีความกังวล เพราะยังมีข่าวเกี่ยวกับอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการฉีดฟิลเลอร์ออกมาให้เห็น เช่น อาการแพ้ฟิลเลอร์ มีอาการฟิลเลอร์อักเสบ หรือฉีดแล้วไม่ได้ทรงสวยงามตามที่ต้องการ
อาการแพ้ฟิลเลอร์คืออะไร? ฟิลเลอร์อักเสบ อันตรายไหม ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์มีอะไรบ้าง สามารถรักษาอย่างไร เพื่อคลายความกังวล หมอมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อสงสัยทั้งหมดมาแนะนำ พร้อมข้อมูลเกี่ยวการฉีดฟิลเลอร์อย่างปลอดภัยครับ
สารบัญ อาการแพ้ฟิลเลอร์
ฟิลเลอร์อักเสบคืออะไร ?
เบื้องต้นหมอขออธิบายก่อนว่า อาการแพ้ฟิลเลอร์ กับ ฟิลเลอร์อักเสบ มีลักษณะที่แตกต่างกัน และมีสาเหตุต่างกันด้วย ใครที่กลัว หรือกังวลกับการฉีดฟิลเลอร์ควรเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจถูกว่าควรฉีดที่คลินิกไหนดี ถึงจะปลอดภัยไม่ต้องเสี่ยงเจออาการที่ไม่พึงประสงค์ครับ
- อาการแพ้ฟิลเลอร์ เป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เกิดได้น้อยมากครับ หากฉีดฟิลเลอร์ประเภทสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) ที่มีความปลอดภัยสูง ก่อนฉีดจึงไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบอาการแพ้
- อาการฟิลเลอร์อักเสบ คืออาการที่เกิดการติดเชื้อภายหลังการฉีดฟิลเลอร์ ก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นก้อน นูน แดง ปวด บวม ร้อน มีตุ่ม หรือมีก้อนหนองตรงบริเวณที่ฉีดได้ หากมีอาการลักษณะนี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา รับยาแก้ปวดไปรับประทานเพิ่ม หรือถ้าฟิลเลอร์อักเสบรุนแรง ต้องทำการฉีดสลายฟิลเลอร์ สลายได้เฉพาะฟิลเลอร์แท้เท่านั้น
ในส่วนอาการฟิลเลอร์อักเสบ อาการที่แสดงที่สามารถสังเกตได้ คือ ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนบวมครับ ซึ่งเกิดจากรอยเข็ม สามารถหายได้เอง โดยจะค่อย ๆ ยุบในช่วง 7-14 วัน หลังทำ แต่หากใครที่อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการบวมไม่ลดลง มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- ปวดบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์มากขึ้น มากกว่าปกติ
- บวมมากขึ้นเรื่อย ๆ กดเจ็บบริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์
- แดงหรือคล้ำที่ผิดปกติ บริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์
- ร้อนบริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์
อาการลักษณะนี้ถือว่าผิดปกติครับ เป็นอันตราย ซึ่งเกิดจากฟิลเลอร์อักเสบจากการติดเชื้อ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาครับ
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ ?
แม้ฟิลเลอร์ประเภทสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) จะมีความปลอดภัยแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถฉีดได้ โดยการฉีดฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับผู้ที่มีข้อจำกัด ดังนี้
- ผู้ที่มีอาการแพ้ฟิลเลอร์ หรือแพ้สารไฮยาลูรอนิก แอซิดมาก่อน
- สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร
- ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก มีแผลฟกช้ำง่าย
- ผู้ที่กำลังรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (ASA), ยาแก้อักเสบปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (NSAIDS), ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), วิตามินอี (Vitamin E), สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Gingko biloba) เป็นต้น
- ผู้ที่มีอาการโรคผิวหนัง เช่น เริม หรืองูสวัดอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์และผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์
ผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ฟิลเลอร์สามารถเกิดขึ้นได้ แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่
- เกิดรอยแดง หรือรอยช้ำบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ ซึ่งหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
- การเกิดรอยนูน หรือผิวไม่เรียบ (beading) เนื่องจากใช้เทคนิคการฉีดที่ตื้นเกินไป เช่น การฉีดในบริเวณที่ชั้นผิวมีความบาง การฉีดฟิลเลอร์ปริมาณมากเกินไป หรือเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เห็นฟิลเลอร์เป็นก้อน หรือเป็นรอยนูนได้ครับ
- มีเกิดปัญหาการเคลื่อนที่ของฟิลเลอร์ โดยฟิลเลอร์มีการเคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ฉีด ไปยังบริเวณข้างเคียงที่ไม่ต้องการ มักเกิดเมื่อมีการฉีดฟิลเลอร์ใกล้ ๆ กับกล้ามเนื้อที่มีการขยับบ่อย ๆ ครับ อย่างไรก็ตาม การเลือกฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลเหมาะสมและเทคนิคการฉีดที่ดีจะช่วยลดปัญหาฟิลเลอร์เคลื่อนที่จากบริเวณที่ฉีดและสามารถรักษาผลลัพธ์ของฟิลเลอร์ได้นานขึ้น
- เป็นก้อน นูน แดงอักเสบ ซึ่งอาการแพ้ฟิลเลอร์ลักษณะนี้บางครั้งอาจพบได้ ภายหลังการฉีด ฟิลเลอร์ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี ขึ้นกับอายุใช้งานของฟิลเลอร์ชนิดนั้น ๆ และภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับการฉีด
- เป็นผื่น ลมพิษแบบรุนแรง (angioedema) อาการแพ้ฟิลเลอร์ลักษณะนี้จะพบได้น้อยมากครับ หากมีอาการต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาครับ
- การติดเชื้อภายหลังการฉีดฟิลเลอร์ มีอาการตั้งแต่ ปวดบวม แดง ร้อน มีตุ่ม หรือก้อนหนองบริเวณที่ฉีด เนื่องจากเทคนิควิธีการฉีดที่ไม่สะอาด คลินิกไม่ได้มาตรฐาน หรือฉีดกับหมอกระเป๋า
นอกจากนี้ยังมีอาการที่ไม่พึงประสงค์อย่างการฉีดฟิลเลอร์ผิดตำแหน่ง โดยฉีดเข้าไปโดนบริเวณหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงอาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้นำไปสู่อาการเนื้อตาย (necrosis) บริเวณที่เส้นเลือดนั้นมาเลี้ยง
ในกรณีที่ฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไปอุดตัน บีบ หรือกดหลอดเลือดแดง (supratrochlear and supraorbital artery) ซึ่งมีแขนงต่อไปที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา (ophthalmic artery) มีผลทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ หรือตาบอดได้
ตัวอย่างอาการฉีดฟิลเลอร์อักเสบ
ตัวอย่างเคสที่แก้ไขกรณีเกิดอุบัติเหตุฟิลเลอร์เข้าหลอดเลือด มีเนื้อตายชั่วคราว (จุดสีดำ ๆ) จากการฉีดฟิลเลอร์จมูก หากทำโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง และใช้ผลิตภัณฑ์ฟิลเลอร์ HA ที่ได้มาตรฐาน ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย
สำหรับแนวทางการแก้ไข หรือรักษอาการแพ้ฟิลเลอร์ ในกรณีที่มีอาการเป็นลมพิษรุนแรงและอาการติดเชื้อแล้วบวม ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาบรรเทาหรือไปฉีดสลายฟิลเลอร์กับแพทย์โดยตรง ส่วนอาการอื่น ๆ เป็นเพียงผลข้างเคียงเท่านั้น ถ้าหากผลข้างเคียงนั้นมีความรุนแรงมาก ให้รีบไปรักษากับแพทย์อย่างเร่งด่วน
หลังฉีดฟิลเลอร์ห้ามกินอะไรเพื่อให้ฟิลเลอร์เข้าที่เร็วขึ้น ?
ถ้าอยากให้ฟิลเลอร์เข้าที่เร็วขึ้นและผลลัพธ์ดี ควรใส่ใจในการดูแลตัวเองหลังฉีดฟิลเลอร์ครับ และยังถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาผลลัพธ์ของฟิลเลอร์ให้อยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่บางอย่างควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นส่วนทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วขึ้นหรือกระตุ้นการอักเสบได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์ ไวน์ น้ำหมัก
- งดหมูกะทะ ปิ้งย่าง ชาบู ที่ต้องนั่งหน้าเตาร้อนๆ
- งดอาหารที่เผ็ดมากๆ แสบร้อนจนหน้าแดง
- งดอาหารหมักดอง เพราะมีสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง มะม่วงดอง
- งดอาหารที่หวานจัด ๆ นมวัว เพราะสามารถกระตุ้นการบวนการอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบจากร้านอาหารที่ไม่สะอาดเนื่องจากพยาธิบางชนิดจะทำปฎิกริยากับฟิลเลอร์แล้วเกิดการอักเสบได้
- ควรงดสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ขยายหลอดเลือด จะทำให้ยุบบวมช้า และผลการรักษาอยู่ได้สั้นลง
สรุป
จะเห็นได้ว่าอาการแพ้ฟิลเลอร์ ฟิลเลอร์อักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุครับ หลัก ๆ คือ เทคนิควิธีการฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่สะอาด คลินิกไม่ได้มาตรฐาน หรือฉีดกับหมอกระเป๋า ใช้ฟิลเลอร์ปลอม ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะมีอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการดูแลหลังฉีดฟิลเลอร์ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มีอาหารบางประเภทที่รับประทานเข้าไปแล้ว จะไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เกิดเป็นก้อน นูน แดง ปวด บวม ร้อน มีตุ่ม หรือมีก้อนหนองตรงบริเวณที่ฉีด ส่งผลต่อความปลอดภัย การออกฤทธิ์ช้า-เร็ว และผลลัพธ์ที่ดีหลังฉีดฟิลเลอร์ครับ
ก่อนฉีดฟิลเลอร์จึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย ควรฉีดโดยแพทย์เท่านั้น หากแพทย์มีเทคนิคการฉีดที่ดี มีประสบการณ์สูงก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาแพ้ฟิลเลอร์ ฟิลเลอร์อักเสบภายหลังและสามารถแก้ปัญหาของคนไข้ได้ตรงจุดครับ