คลายข้อกังวลฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้เห็นข่าวกันมาบ้าง และทำให้เกิดความกังวลเมื่อจะตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ หมอขอตอบเลยว่าการฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้จริงแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกันได้ง่าย ๆ ครับ
บทความนี้หมอจะมาอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดและวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลังฉีดฟิลเลอร์
สารบัญ ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
สาเหตุฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ครับ โดยเกิดจากสารเติมเต็มที่ฉีดเข้าไปอุดตันเส้นเลือดแดงใหญ่ที่นำเลือดมาเลี้ยงดวงตา ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าภาวะ Central Retinal Artery Occlusion (CRAO) ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงที่จอประสาทตา จนเซลล์ถูกทำลาย และสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุดหากแก้ไขด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์ไม่ทัน
โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่อาจทำให้ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ได้แก่
ตำแหน่งฉีดฟิลเลอร์ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน
หลายคนเข้าใจกันว่าการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นตำแหน่งที่เสี่ยงตาบอดที่สุด แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ครับ จากการศึกษาในปี 2024 พบว่า 3 อันดับแรกของตำแหน่งฉีดฟิลเลอร์ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนการมองเห็น (Ocular Complications) ได้แก่
- จมูก (40.6%)
- หน้าผาก (27.7%)
- ระหว่างคิ้ว (19.0%)
และร่องแก้ม ขมับ บริเวณรอบดวงตา เป็นบริเวณที่พบน้อยลงมาตามลำดับ
Note. From “Update on Blindness From Filler: Review of Prognostic Factors, Management Approaches, and a Century of Published Cases” by Valerie C Doyon, et al., 2024, Aesthetic Surgery Journal, 44(10), P. 1091–1104
จากภาพรวมการฉีดฟิลเลอร์ในบริเวณ เช่น จมูกและหน้าผาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางดวงตาสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีหลอดเลือดเชื่อมโยงกับดวงตา
หากต้องการฉีดฟิลเลอร์บริเวณนี้ ควรทำหัตถการโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เพราะเป็นตำแหน่งกายภาพที่ความเสี่ยงสูง แต่ที่จริงไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ควรฉีดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ดีที่สุดครับ
ส่วนใครที่สงสัยว่าแล้วถ้าฉีดฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดบริเวณอื่นที่ไม่ได้มีเส้นเลือดเชื่อมเข้าสู่ดวงตาโดยตรงจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร คำตอบคือเมื่อฟิลเลอร์เกิดการอุดตันในเส้นเลือดทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้ จะทำให้เกิดอาการเนื้อตาย (Necrosis) ชั่วคราว แต่ถ้าหากใช้ฟิลเลอร์แท้สาร HA ก็สามารถแก้ไขทันทีด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์ครับ
การใช้ฟิลเลอร์ปลอม
ฟิลเลอร์ที่มีความปลอดภัย ได้รับรองจาก อย. อเมริกา (U.S. FDA) ในการนำมาใช้ฉีดปรับรูปหน้า คือ สารเติมเต็มประเภท Hyaluronic acid (HA) สามารถสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารตกค้างในร่างกาย และในกรณีที่เกิดปัญหา สามารถฉีดสลายฟิลเลอร์ได้อย่างปลอดภัย
ส่วนฟิลเลอร์ประเภทอื่น ๆ เช่น พาราฟิน สารซิลิโคนเหลว เคยมีการใช้กันในสมัยก่อนครับ แต่ปัจจุบันไม่นิยมนำมาใช้กันแล้วถึงแม้ว่าจะมีราคาถูก เพราะสารเหล่านี้ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ และเกิดการตกค้างในร่างกาย
ในระยะยาวทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ฟิลเลอร์เป็นก้อน อักเสบติดเชื้อ ฟิลเลอร์ไหลย้อยผิดทิศทาง เนื้อตาย หรือตาบอด หากพบว่ามีการนำมาใช้ในตอนนี้จะนับเป็นฟิลเลอร์ปลอมครับ
ฉีดฟิลเลอร์โดยหมอหิ้ว หมอกระเป๋า
ในเคสที่ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด มักเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์โดยหมอกระเป๋า หมอเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาต ขาดความรู้เรื่องโครงสร้างกายวิภาคบนใบหน้า และไม่มีเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง
โดยเทคนิคการฉีดมีความสำคัญมากครับ ทั้งการออกแรงกดเข็ม การออกแรงดันยา รวมถึงความรู้ด้านโครงสร้างกายวิภาคบนใบหน้า จะสามารถช่วยเพิ่มความแม่นยำในการฉีดฟิลเลอร์มากยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
ส่วนแพทย์ที่ประสบการณ์ยังไม่มากนัก มักจะเริ่มจากการฉีดฟิลเลอร์บริเวณอื่นที่โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น ฟิลเลอร์คาง ฟิลเลอร์ปาก แล้วจึงค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ร่วมกับการเข้าอบรมเพื่อพัฒนาเทคนิคและฝีมือครับ
3 ข้อควรรู้ก่อนฉีดฟิลเลอร์ ให้ปลอดภัย
เพื่อป้องกันไม่ให้หลังฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ก่อนฉีดฟิลเลอร์มีข้อควรรู้ดังนี้ครับ
- วิธีเช็กฟิลเลอร์แท้
ปัจจุบันมีฟิลเลอร์ออกใหม่หลายยี่ห้อ หลายรุ่น ฉีดฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดี ควรใช้ฟิลเลอร์ประเภท HA ได้รับรองมาตรฐานจาก อย. นำเข้าอย่างถูกต้อง ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีวิธีเช็กฟิลเลอร์แท้ที่ต่างกันไปครับ
วิธีดูฟิลเลอร์แท้ยี่ห้อ Restylane
วิธีดูฟิลเลอร์แท้ยี่ห้อ Juvederm
หากคนไข้สนใจอยากฉีดฟิลเลอร์ยี่ห้อไหน หมอแนะนำให้ศึกษาวิธีเช็กฟิลเลอร์แท้ของแต่ละยี่ห้อก่อนฉีด เพื่อตรวจสอบด้วยตนเองหน้างาน ที่สำคัญแพทย์ควรแกะกล่องฟิลเลอร์ให้ดูต่อหน้า และคนไข้สามารถนำกล่องฟิลเลอร์กลับบ้านได้ครับ
- การเลือกคลินิกฉีดฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ
คลินิกฉีดฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานและแพทย์ผู้ทำหัตถการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฉีดฟิลเลอร์มีความปลอดภัย ก่อนฉีดฟิลเลอร์จึงควรทราบถึงวิธีการเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน โดยต้องเป็นคลินิกที่ได้รับใบอนุญาต ให้คำปรึกษาแนะนำ ทำหัตถารโดยแพทย์จริงที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และมีประสบการณ์ ฟิลเลอร์มีราคาสมเหตุสมผล รวมถึงมีรีวิวที่น่าเชื่อถือจากผู้ใช้บริการจริง
สามารถอ่านวิธีการเลือกคลินิกฉีดฟิลเลอร์เพิ่มเติมได้ที่บทความ : ฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี ? เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยและผลออกมาดูเป็นธรรมชาติ
- วิธีการเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์ และข้อควรปฏิบัติหลังฉีด
การเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์ และวิธีดูแลตัวเองหลังฉีด เป็นสิ่งที่ควรรู้และปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันการเกิดอาการบวมช้ำหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หลังฉีดฟิลเลอร์
ข้อควรปฏิบัติก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดการรับประทานยาหรือวิตามินที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น NSAIDs, วิตามิน St. John’s Wort, ginko biloba, primrose oil, garlic, ginseng และ Vitamin E เป็นเวลา 1 อาทิตย์ก่อนฉีด
- งดคอร์สเลเซอร์และนวดหน้า อย่างน้อย 3 วัน
- งดการทายาผลัดเซลล์ผิว การดึงหรือโกนขนบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์ อย่างน้อย 3 วัน
- ควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรับประทานยา โรคประจำตัว ไว้สำหรับแจ้งแพทย์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดฟิลเลอร์
- หลังฉีดฟิลเลอร์อาจมีอาการบวมได้ปกติ ควรกินยาที่แพทย์จ่ายให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอาการบวม ป้องกันการอักเสบติดเชื้อ
- ในช่วงระยะเวลา 3 วันหลังฉีด ไม่ควรขยับใบหน้าเยอะ อาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ฉีด
- งดการบีบ นวด แกะ เกาบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์
- เลี่ยงความร้อนทุกชนิด เช่น การซาวน่า ทรีตเมนต์
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง อาจทำให้อาการบวมยุบช้า ฟิลเลอร์เข้าที่ช้าขึ้น
อาการหลังฉีดฟิลเลอร์ที่ควรพบแพทย์
หมอขอแบ่งการสังเกตอาการหลังฉีดฟิลเลอร์ เป็น 2 ระยะดังนี้ครับ
- หลังฉีดฟิลเลอร์ทันที ภายใน 5-10 นาที หากเกิดอาการมองเห็นไม่ชัด หรือสังเกตว่ามีจุดดำ ๆ ขึ้นมาเวลามองเห็น ทำให้มองไม่เห็นบางส่วน หรือมองไม่เห็นเลย ให้รีบแจ้งแพทย์เพื่อทำการฉีดสลายฟิลเลอร์ทันที
- หลังฉีดฟิลเลอร์ 3 วัน หากสังเกตอาการแล้วพบผลข้างเคียงเหล่านี้ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา
- อาการบวมแดงยังไม่ดีขึ้น และรู้สึกว่ามีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ผิวบริเวณที่ฉีดมีสีแดงคล้ำหรือซีดกว่าปกติ
- รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดอย่างรุนแรง
- เกิดการอักเสบ มีตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองบริเวณที่ฉีด
ส่วนอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อาการบวม รอยเขียวช้ำจากเข็ม เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ปกติครับ จะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถหายได้เองภายใน 3-4 วัน
อ่านบทความเพิ่มเติม : ฉีดฟิลเลอร์ บวมกี่วัน ? กี่วันเห็นผล ?
ฉีดฟิลเลอร์อันตรายไหม ?
สรุปแล้วการฉีดฟิลเลอร์อันตรายไหม ? หมอขออธิบายดังนี้ครับ ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการฉีดฟิลเลอร์โอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการฉีดโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์หรือใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
จากรายงานการศึกษาผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการฉีดฟิลเลอร์ HA เข้าที่บริเวณใบหน้า พบว่าภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่เกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ HA นั้นไม่รุนแรงและหายได้เอง ได้แก่ เป็นก้อน (43%), อาการกดแล้วเจ็บ (41%), อาการบวม (34%), รอยฟกช้ำ (29%), อาการเจ็บ (28%) และรอยแดง (26%) (Colon, J. et al., 2023)
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่น ๆ เช่น สูญเสียการมองเห็น ฟิลเลอร์อักเสบติดเชื้อ ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างครับ ตามข่าวที่มีการตรวจจับคลินิกเถื่อน หมอปลอม
ยกตัวอย่างเคสในประเทศเกาหลีใต้ มีเคสที่สูญเสียการมองเห็นดวงตาข้างซ้ายเฉียบพลันหลังจากฉีดฟิลเลอร์ HA จำนวน 0.5 CC เข้าที่บริเวณหว่างคิ้ว ตรงกลางคิ้วด้านซ้าย โดยพบอาการปวด และสูญเสียการมองเห็นที่ดวงตาข้างซ้ายทันที ซึ่งสาเหตุเกิดจากการสั่งฟิลเลอร์มาให้เพื่อนฉีดให้ที่บ้านโดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์
หมอจึงเน้นย้ำเสมอเรื่องการเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน ฉีดกับแพทย์มากประสบการณ์ มีความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาคบนใบหน้า รวมถึงมีเทคนิคการฉีดที่เหมาะสมที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังฉีดฟิลเลอร์ได้ครับ
โดยปัจจุบันการฉีดฟิลเลอร์ ยังเป็นหัตถการที่ได้รับความนิยมครับ ไม่ใช่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลก โดยจากการศึกษาพบว่าในปี 2022 คนเกือบห้าล้านคนทั่วโลกปรับรูปหน้าด้วยการใช้สารเติมเต็ม HA สอดคล้องกับรายงาน Global Dermal Market Share ในปี 2023 ที่ระบุว่า สาร HA ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 77.5% และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี
สรุปเรื่องฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จริงครับ แต่โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยมักเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ ขาดประสบการณ์ หรือใช้ฟิลเลอร์ปลอมที่ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ถ้าฉีดฟิลเลอร์ภายใต้คลินิกที่ได้มาตรฐาน ใช้ฟิลเลอร์ของแท้ ทำหัตถการโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอย่างดี จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ได้ครับ
แหล่งอ้างอิง
Colon, J., Mirkin, S., Hardigan, P., Elias, M. J., & Jacobs, R. J. (2023). Adverse Events Reported From Hyaluronic Acid Dermal Filler Injections to the Facial Region: A Systematic Review and Meta-Analysis. Cureus, 15(4), e38286. https://doi.org/10.7759/cureus.38286
Dermal Fillers Market Size, Share & Industry Analysis, By Material (Hyaluronic Acid, Calcium Hydroxylapatite, Poly-L-lactic Acid, PMMA (Poly (Methyl Methacrylate)), Fat Fillers, and Others), By Product (Biodegradable and Non-Biodegradable), By Application (Scar Treatment, Wrinkle Correction Treatment, Lip Enhancement, Restoration of Volume/Fullness, and Others), By End-user (Specialty & Dermatology Clinics, Hospitals & Clinics, and Others), and Regional Forecast, 2024-2032 https://www.fortunebusinessinsights.com/industry-reports/dermal-fillers-market-100939
Mohammed H. Abduljabbar, Mohammad A. Basendwh, Complications of hyaluronic acid fillers and their managements, Journal of Dermatology & Dermatologic Surgery, Volume 20, Issue 2, 2016, Pages 100-106, ISSN 2352-2410, https://doi.org/10.1016/j.jdds.2016.01.001.
Rebecca Friedman, Allison V Coombs, Shanlee Stevens, Richard D Lisman, Ernest S Chiu, Complete Vision Recovery After Filler-Induced Blindness Using Hyperbaric Oxygen Therapy: Case Report and Literature Review, Aesthetic Surgery Journal Open Forum, Volume 6, 2024, ojae036, https://doi.org/10.1093/asjof/ojae036
Valerie C Doyon, Chaocheng Liu, Rebecca Fitzgerald, Shannon Humphrey, Derek Jones, Jean D A Carruthers, Katie Beleznay, Update on Blindness From Filler: Review of Prognostic Factors, Management Approaches, and a Century of Published Cases, Aesthetic Surgery Journal, Volume 44, Issue 10, October 2024, Pages 1091–1104, https://doi.org/10.1093/asj/sjae091